เตรียมรับน้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตร
ไม่เฉพาะภัยแล้งที่บ้านเรากำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในพื้นที่ภาคเกษตรน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดนับจากนี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคกลางทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและลุ่มน้ำแม่กลองที่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวซ้ำซากทุกปี จนสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง แต่ก็เป็นที่น่ายินดีปีนี้ดูเหมือนว่าหน่วยงานภาครัฐมีการเตรียมพร้อมกันตั้งแต่เนิ่นๆ
ก่อนหน้านี้ นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้สั่งกำชับให้สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่จัดประชาคมเกษตรกร เพื่อเตรียมแผนรับมือน้ำทะเลหนุนที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงแล้งจัดเดือนมีนาคม – เมษายน เพราะหวั่นเกรงว่าปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนที่มีน้อยมากจะส่งมาไม่ถึงปลายน้ำ อาจทำให้เกษตรกรเดือดร้อนและผลผลิตเสียหายแล้วให้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มเกษตรกร ให้เร่งซ่อมแซมคันกันน้ำ คูคลอง พร้อมประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรกักเก็บน้ำจืดในแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ให้พอเพียง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากน้ำทะเลหนุนสูง
ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงเกษตรฯ “ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ” ลงพื้นที่ประชุมหารือแนวทางการป้องกันแก้ไขสถานการณ์น้ำเค็มด้วยตัวเอง โดยมีหน่วยงานภายในกรมส่งเสริมการเกษตรทั้ง 4 จังหวัดเข้าร่วม สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี และนครปฐม ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ชลประทานสำนักงานชลประทานที่ 11 และ 13 อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม ผู้แทนเกษตรกรต่างๆ เข้าร่วมประมาณ 50 คน ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยได้สรุปแนวทางการทำงานและสั่งการตามแผนการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มอย่างยั่งยืน โดยชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสรุปผลให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม และเร่งจัดทำแผนเบื้องต้นให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนน้ำเค็มจะมาเยือนในเดือนถัดไป.
สำหนับแนวทางแก้ไขจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการแก้ปัญหาระยะยาว โดยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบและให้ทุกหน่วยงานทำงานบูรณาการกันเช่น การปล่อยน้ำและเปิดปิดประตูน้ำ ให้ชลประทานรับผิดชอบ ให้สำรวจแหล่งน้ำจืดสำรองและเตรียมพร้อมไว้ เช่น บาดาลโดยบูรณาการทุกส่วน ส่วนการสำรวจและจัดเตรียมรถน้ำเพื่อช่วยเหลือให้ทันต่อสถานการณ์โดยบูรณาการกันทุกส่วน ตลอดจนการประสานและให้ความรู้แก่เกษตรกรในการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้น เช่น การขุดลอกคลองในสวนเพื่อเก็บน้ำจืดสำรองไว้ พร้อมกันนี้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม สรุปข้อมูลอย่างต่อเนื่องและแจ้งทุกฝ่ายให้รวดเร็ว
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว ให้ทุกฝ่ายเตรียมแผนการช่วยเหลือเกษตรกรหลังเกิดภัยและส่งเสริมอาชีพทางเลือกหรือการปลูกพืชแซมแก่เกษตรกร โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรรับผิดชอบ ทั้งนี้ในภาพรวมการทำงานอย่างบูรณาการตามระบบ single command ถึงแม้การดำเนินการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่ภาคเกษตรทั้งสองลุ่มน้ำลงได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากปีนี้คาดว่าน่าจะแล้งหนักกว่าทุกปีและน้ำต้นทุนในเขื่อนก็มีน้อย ฝากเตือนไปยังพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงอย่าเพิ่งนิ่งนอนใจเตรียมพร้อมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ ก็จะดีไม่น้อยจะได้ไม่ต้องเสียใจในภายหลัง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 19 มกราคม 2559
คอลัมน์เส้นทางอาชีพ หน้า 10
Contact Us
สำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เลขที่ 50 อาคารวิทยบริการ ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ : 02 942 8820 - 9 ภายใน มก.611336-9
โทรสาร : 02 942 8820 - 9 ต่อ 111
ติดต่อผู้ดูแลระบบ : etoku@ku.ac.th
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
นโยบายคุกกี้