ราชบัณฑิตยสถาน ได้ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำเนื้อหาวิชาการด้านภาษาถิ่น ๓ ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ทั้งด้านวรรณกรรม พจนานุกรม สำนวนภาษิต และชุดแบบอักษร ภาษาถิ่น


ลงวันที่ 2014-11-18 ดูแล้ว 3,738 ครั้ง

ราชบัณฑิตยสถาน ได้ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำเนื้อหาวิชาการด้านภาษาถิ่น 3 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ทั้งด้านวรรณกรรม พจนานุกรม สำนวนภาษิต และชุดแบบอักษร (font) ภาษาถิ่น มาได้ในระยะหนึ่ง เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยมีส่วนร่วมในการทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติ ดังนั้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสวนาทางวิชาการให้กับประชาชนในท้องถิ่นที่ได้รับทราบ และเพื่อต้องการพัฒนาเนื้อหา ทางวิชาการมากยิ่งขึ้น ราชบัณฑิตยสถาน จึงร่วมกับสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม และสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเสวนาทางวิชาการ “รู้ รัก ภาษาไทยสัญจร” ขึ้น เพื่อพบปะกับกลุ่มผู้ฟัง ภาคละ 1 ครั้ง โดยเริ่มจากทางภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม 2557 ภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2557 และภาคใต้ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 16-17 ธันวาคม 2557 รวมทั้งหมด 3 ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสำรวจความคิดเห็นของนักวิชาการท้องถิ่นและประชาชนในแต่ละภูมิภาค เกี่ยวกับบทบาทของราชบัณฑิตยสถานที่มีต่อภาษาถิ่นต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น โดย นายนาวิน สินธุสอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน และนายพงษ์ศักดิ์ ศิริวงษ์ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน เป็นผู้กล่าวรายงาน

สำหรับกิจกรรมในวันอังคารที่ 28 ตุลาคม 2557 ภาคเช้า ประกอบด้วย การกล่าวถึงความเป็นมาของการดำเนินงานคณะกรรมการจัดทำเนื้อหาวิชาการด้านภาษาไทยถิ่น ภาคเหนือ โดย ศ.ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ ประธานคณะกรรมการจัดทำเนื้อหาวิชาการด้านภาษาไทยถิ่น ภาคเหนือ พร้อมด้วยคณะกรรมการวิชาการของราชบัณฑิตยสถาน นำเสนองานของราชบัณฑิตยสถานที่เกี่ยวข้องกับภาษาถิ่น กิจกรรมใน ภาคบ่าย ประกอบด้วยการบรรยายและการนำเสนอผลงาน เกี่ยวกับภาษาไทยถิ่น ภาคเหนือ โดยนักวิชาการท้องถิ่น

สำหรับกิจกรรมในวันพุธที่ 29 ตุลาคม 2557 ภาคเช้า ประกอบด้วยบรรยายพิเศษ หัวข้อ “คุณค่าของภาษาถิ่นต่อการศึกษาวรรณกรรม” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร การบรรยายเรื่อง “การจัดทำพจนานุกรม ภาษาไทถิ่น” โดย อาจารย์ยุพิน เข็มมุกด์ และคณะ การบรรยายเรื่อง “การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านล้านนาคดีจากปราชญ์ท้องถิ่นผ่านระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” โดย นางสาวอมรรัตน์ เฟื่องวรธรรม และกิจกรรม ภาคบ่าย ประกอบด้วยการแบ่งกลุ่มนำเสนอข้อคิดเห็นเรื่อง “ข้อคิดเห็นต่อการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และการสืบทอดภาษาถิ่นของราชบัณฑิตยสถาน” ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่



ติดต่อหน่วยงาน

Contact Us

สำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เลขที่ 50 อาคารวิทยบริการ ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 
โทรศัพท์ : 02 942 8820 - 9 ภายใน มก.611336-9 
โทรสาร : 02 942 8820 - 9 ต่อ 111
ติดต่อผู้ดูแลระบบ : etoku@ku.ac.th
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
นโยบายคุกกี้