มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2486 ทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยหน้าที่การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เป็นภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ ที่มีความสำคัญ ทั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยฯ เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศสมควรที่จะเผยแพร่ความรู้เหล่านั้นสู่ประชาชน สู่สังคม ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีพ การเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนในหลากหลายรูปแบบต่อเนื่องกันมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2502 มหาวิทยาลัยฯ จึงได้เริ่มจัดตั้งหน่วยงานภายใน (สำนักส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร) และเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2513 สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศ ให้ “สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม” เป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีภารกิจด้านบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์สู่ประชาชน ในรูปแบบของการจัดฝึกอบรม ส่งเสริม และเผยแพร่ ผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ การฝึกอบรมวิชาชีพภาคฤดูร้อน การจัดทำเอกสารเผยแพร่ การนำชมกิจการมหาวิทยาลัย การบริการสื่อ การสอน การจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนการจัดนิทรรศการ และงานประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
ในปีพ.ศ. 2520-2524 รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการพัฒนามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และได้ก่อตั้งหน่วยงานของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ที่วิทยาเขตกำแพงแสน มีโครงสร้างภายใน แบ่งเป็น 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานเลขานุการ งานวิชาการและงานวิจัย งานส่งเสริมและเผยแพร่ และงานสื่อการศึกษา โดยในปี พ.ศ. 2531 ได้ขออนุมัติปรับโครงสร้างใหม่ ให้เหมาะสมกับภารกิจที่ปฏิบัติใน 2 วิทยาเขต ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายบริหารและธุรการทั่วไป ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ ฝ่ายพัฒนาสื่อการส่งเสริม ฝ่ายวิเคราะห์โครงการและหลักสูตรการฝึกอบรม ฝ่ายฝึกอบรม และฝ่ายโรงพิมพ์ ในปี พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง การจัดตั้งสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน โดยสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อนุมัติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2548 จัดตั้งให้ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน เป็นหน่วยงานภายในที่มีสถานภาพเทียบเท่าคณะ ดังนั้น สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน จึงไม่อยู่ภายใต้การบริหารของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม
จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในประเทศและของโลก ในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม การตลาด การสื่อสาร ทำให้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน บทบาทของมหาวิทยาลัยและส่วนงานต่าง ๆ รวมทั้งสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ซึ่งจำเป็นต้องยกระดับปรับเปลี่ยน บทบาท พันธกิจ เป้าหมาย โครงสร้าง และรูปแบบการให้บริการวิชาการ ให้เป็นหน่วยงานที่สร้างเสริมพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสริมงานที่ดำเนินการโดยคณะและหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะข้อ ๒ และ ๓ “ ข้อ ๒ สร้างสมรรถนะกำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลก ในทุกช่วงวัย และ ข้อ ๓ สร้างต้นแบบสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และชุมชน ซึ่งแต่เดิมงานบริการวิชาการของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มีลักษณะเป็นการตั้งรับและขาดการติดตามการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ หรือขาดการศึกษาด้านการตลาดเพื่อให้ทราบถึงความต้องการและความคาดหวัง ที่แท้จริงของผู้รับบริการ เพื่อนำมาออกแบบหลักสูตร การจัดการ ตลอดจนการให้บริการ ทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด
ด้วยเหตุ ข้างต้นประกอบกับความมุ่งมั่นตามแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในการยกระดับงานและผลงานของหน่วยงานมหาวิทยาลัย ให้เป็นมาตรฐานสากล จึงเป็นที่มาของการที่สภามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ได้พิจารณาอนุมัติจัดตั้ง “สำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” แทน สำนักส่งเสริมและฝึกอบรมเดิม โดยปรับวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์และ กลยุทธ์ ให้เป็นลักษณะเชิงรุก โดยมีผลลัพธ์ที่มุ่งหวังในระยะยาว (OUTCOME) คือ สำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแหล่งพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อประชาชนในนามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ในการเสริมสร้างสมรรถนะ (competency) แก่ประชาชน นักศึกษา ศิษย์เก่า บุคลากรขององค์กรรัฐและเอกชน รวมทั้งประชาคมมหาวิทยาลัย และส่งเสริมภาพลักษณ์ความเชื่อถือให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ ด้วยการออกแบบหลักสูตร บริการ และการจัดการ ถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะ ที่ตอบสนองความต้องการของกำลังคน และสมรรถนะบุคคลของประเทศ ในกลุ่มผู้รับบริการเป้าหมาย โดยคำนึงถึงคุณค่าที่ผู้รับบริการพึงได้รับตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) การเกษตร อาหาร สุขภาพ การศึกษา การประกอบอาซีพ การทำธุรกิจ ด้วยนวัตกรรมการยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการที่มุ่งสู่ การกินดีอยู่ดี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและตอบโจทย์ การพัฒนาที่ยั่งยืนของสากลตามข้อตกลงองค์การสหประชาชาติ (SDGs) ด้านต่าง ๆ ตลอดจนการจัดการฝึกอบรมที่เน้นการ Up skill -Re skill เพื่อพัฒนาสมรรถนะกลุ่มบุคคลในทุกช่วงวัยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยองค์ความรู้ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทันสมัยและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งการพัฒนาสื่อที่ทันสมัยในรูปแบบของ Application และ Platform ที่เหมาะสมเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงความรู้และบริการวิชาการของสำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต